ขับเคลื่อนโดย Blogger.

แนวโน้มโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีความเสี่ยงสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน

      
   สถานการณ์ของโรคติดต่ออุบัติใหม่ในปัจจุบัน มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยโรคติดต่ออุบัติใหม่ ที่เกิดในมนุษย์จำนวนมากมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ หรือสัตว์ป่า และมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมากมาย ได้แก่ การเคลื่อนย้ายของประชากร สัตว์พาหะนำโรค เช่น ยุง การขาดความรู้ความเข้าใจและความตระหนักในการป้องกันควบคุมโรคของประชาชน การปฏิบัติตนยังไม่ถูกต้องตาม
หลักสุขอนามัยหรือสุขลักษณะ การที่มีกลุ่มคนอยู่กันอย่างหนาแน่น ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ ได้แก่ ผู้ที่มีความต้านทานต่อโรคต่ำ เช่น กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 หรือน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไป) หรือกลุ่มอาชีพเฉพาะ เช่น เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อสัตว์ สัตวบาล และสัตวแพทย์ รวมทั้งกลุ่มที่อาจมีการแพร่โรคหรือรับโรคได้ง่าย เช่น กลุ่มผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก หรือกลุ่มผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ
การประเมินความเสี่ยงของโรคติดต่ออุบัติใหม่เป็นส่วนสำคัญในการคาดการณ์ความเสี่ยงและแนวโน้มของการเกิดโรค อันจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะแนวทางการป้องกันควบคุมโรคได้
อย่างถูกต้องและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีความเสี่ยงสำหรับประเทศไทย อาจแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ
1. โรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำที่พบในประเทศไทย ได้แก่ โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก โรคลีเจียนแนร์ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้กาฬหลังแอ่นจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ เช่น serogroup W-135 และสายพันธุ์อื่นๆ ที่อาจเข้ามากับแรงงานต่างด้าว
2. โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ เช่น โรคไข้เหลือง (Yellow fever)
โรคลิชมาเนียสิส (Leishmaniasis) โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah viral disease) โรคไข้เวสต์ไนล์ (West nile fever) โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา-มาร์บูร์ก (Ebola-marburg viral disease) โรคสมองฝ่อวาเรียนท์ (variant-Creutzfeldt-Jakob disease: vCJD) ที่เกิดจากจากโรคสมองฝ่อในวัว หรือ   โรควัวบ้า (Bovine Spongiform Encephalophathy: BSE or mad cow disease) และโรคที่อาจเข้ามากับสัตว์ เช่น โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) และโรคติดเชื้อจากการใช้อาวุธชีวภาพ (Bioterrorism) เช่น โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ไข้ทรพิษ (Smallpox) กาฬโรค (Plague)
3. โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคจากเชื้อดื้อยาชนิดใหม่
    ผลจากการประเมินความเสี่ยงโดยใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยา ข้อมูลด้านชุมชน ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ฐานข้อมูลประชากรจากกรมการปกครอง ข้อมูลด้านปศุสัตว์ เพื่อการคาดการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่จะเป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่กลุ่มเสี่ยงในประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ. 2553 นั้น พบว่า โรคที่มีคะแนนความเสี่ยงสูงมาก และความเสี่ยงสูง ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล   โรคมือ เท้า ปาก โรคไข้หวัดนก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal infection) โรคติดเชื้อจากสเตรฟโตคอกคัสซูอิส (Streptococcus suis) และโรคชีวพิษโบทูลิซึม (Bolulism) นอกจากนี้ ยังควรต้องระมัดระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ ที่มีอยู่ประปรายในพื้นที่ เช่น โรคลีเจียนแนร์ โรคเมลิออยโดสิส รวมทั้ง โรคที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคไข้เวสต์ไนล์ หรือโรคที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็น
ที่จะต้องมีศักยภาพ ระบบ และเครื่องมือในการป้องกันควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ รวมทั้งมี
การเตรียมพร้อมตอบโต้โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีประสิทธิภาพ อันจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม ที่จะเกิดตามมาจากการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้

เสื้อหมออนามัย



"เสื้อหมออนามัย" ใส่ได้เฉพาะหมออนามัยหรือเปล่าครับ?
เป็นคำถามที่เด็กอายุราว 4 ปีได้เอยถามผม
พอผมได้ยินคำถามนี้ผมก็ถามตอบทันทีครับว่าเสื้อหมออนามัยเป็นแบบไหน?

เสื้อหมออนามัยในที่นี้ก็หมายถึงเสื้อสีฟ้าริ้วที่เจ้าหน้าที่อนามัยชอบใส่กัน เรียกแบบเป็นทางกาคือชุดฟ้าริ้ว 
ในวงการของพยาบาลวิชาชีพก็จะเรียกว่า เครื่่องแบบพยาบาลอนามัยชุมชน(เสื้อสีฟ้า กระโปรงดำ  รองเท้าหุ้มส้น)
ผมไม่แน่ใจว่าหลักสูตรอื่่นๆจะเรียกเสื้อหมออนามัยว่า ชุดฟ้าริ้วหรือเครื่องแบบพยาบาลอนามัยชุมชน

แต่ในที่ทำงานของผมเรียกว่าชุดฟ้าริ้ว คือ เสื้อฟ้าริ้ว กางเกงสีฟ้ามีริ้วๆ
โดยมีนโยบายให้ใส่เสื้อหมออนามัยหรือชุดฟ้าริ้วมาทำงานในวันพุธ
ใส่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข
ดังนั้นผมจึงของสรุปว่า เสื้อหมออนามัย ไม่ได้มีไว้สำหรับหมออนามัยใส่อย่างเดียว แพทย์หรือพยาบาลก็ใส่ได้

พูดถึงเสื้อหมออนามัยแล้วทำให้ผมคิดถึงสมัยจบมาทำงานใหม่ๆ
ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมีนโยบายให้มีการแต่งกายเน้นความเป็นเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีของความเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข
โดยได้กำหนดให้แต่งกายมาทำงานดังนี้
วันจันทร์     กากี (เสื้อยืดต้องใส่สูททับ)
วันอังคาร      ชุดสุภาพ (เสื้อยืดต้องใส่สูททับ)
วันพุธ            ฟ้าริ้ว(เสื้อหมออนามัย)
วันพฤหัสบดี  เสื้อสีส้ม
วันศุกร์     นิยมไทย/ผ้าพื้นเมือง(ฝ้าย/ไหม)
ส่วนเสื้อยืด/กางเกงยีนส์  ใช้ในโอกาสตามที่กิจกรรมกำหนดเท่านั้น

เสื้อสีกากี ชุดสุภาพ เสื้อสีส้ม(ชุดนี้ต้องซื้อราคา 300บาท ปัจจุบันเสื้อตัวนี้ขาดแล้วครับเนื่องจากผมอ้วนขึ้น) เสื้อผ้าพื้นบ้าน ผมล้วนมีไว้ในครอบครอง
ขาดแต่เสื้อหมออนามัย หรือ ชุดฟ้าริ้วที่ผมไม่มี เพราะไม่รู้จะซื้อที่ไหน ร้านตัดเสื้อก็ไม่มีผ้าชนิดนี้
เมื่อก่อนการสั่่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตก็ไม่แพร่หลายอย่างทุกวันครับ

ปัจจุบันผมมีเสื้อหมออนามัยใส่เรียบร้อย สวยงามถูกระเบียบ  เพราะอดีตหัวหน้าซื้อให้
สำหรับรุ่นน้องที่เพิ่งจบมาแล้วไม่มีเสื้อหมออนามัยใส่ก็ไม่ต้องกังวลแล้ว เพราะปัจจุบันสามารถสั่งซื้อแบบออนไลน์ได้

แนวข้อสอบนักวิชาการสาธารณสุข

1.       โรคติดต่ออุบัติใหม่ (Emerging infectious diseases) หมายถึง

ตอบ โรคติดต่อที่มีอุบัติการณ์ในมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงที่เพิ่งผ่านมา หรือมีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ 

2.       โรคติดต่ออุบัติใหม่  ได้แก่โรคติดต่อชนิดใด 

ตอบ  โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อใหม่ (new infectious diseases) โรคติดต่อที่พบในพื้นที่ใหม่ (new geographical areas) และโรคติดต่ออุบัติซ้ำ (Re-emerging infectious diseases) คือ โรคติดต่อที่เคยแพร่ระบาดในอดีตและสงบไปนานหลายปีแล้ว แต่กลับมาระบาดขึ้นอีก โรคจากเชื้อดื้อยา (Drug resistant pathogens) และโรคจากการก่อการร้ายด้วยเชื้อโรค(Bioterrorism)

3.       โรคติดต่ออุบัติใหม่จากสัตว์ (Emerging zoonotic diseases) หมายถึง

ตอบ  โรคติดต่อจากสัตว์ที่พบใหม่หรือเกิดจากเชื้อที่กลายพันธุ์ไป หรือโรคที่มีอยู่เดิมแล้ว แต่พบแนวโน้มของอุบัติการณ์ของโรค พื้นที่ โฮสต์ หรือพาหะนำโรคเพิ่มมากขึ้น 

4.       ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่ มีอะไรบ้าง 

ตอบ    1. ปัจจัยด้านชีวภาพ (Biological factors) เช่น เชื้อโรค มนุษย์ โครงสร้าง ประชากร พฤติกรรมของมนุษย์ (Demographic factors) ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ของมนุษย์และสัตว์ (Human and animal interface)

2. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental factors) เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์จากการกระทำของมนุษย์ (Man-made ecological changes) ภาวะโลกร้อน (Global warming)

3. ปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจ (Socioeconomic factors) เช่น การเดินทางและการค้าระหว่างประเทศ (International travel and trade factors) โครงสร้างสาธารณสุข (Public health infrastructure  factors) 



5.       การที่สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากเดิม ส่งผลให้เกิดโรคติดเชื้อ 

อุบัติใหม่ต่าง ๆ  เป็นผลเนื่องมาจากสาเหตุใด

ตอบ  - การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์จากการกระทำของมนุษย์ (Man-made ecological changes) การบุกรุกและทำลายป่าในประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อย ทำให้เกิดความไม่สมดุลที่เอื้อต่อการเกิดและแพร่เชื้อโรค โดยมนุษย์อาจติดเชื้อจากสัตว์ป่าโดยตรง แล้วนำกลับไปแพร่ในชุมชน นอกจากนั้นยังอาจเกิดการแพร่กระจายของแมลงและสัตว์นำโรค เช่น การทำลายป่าเพื่อสร้างสนามบินนานาชาติในมาเลเซีย ทำให้ค้างคาวต้องอพยพเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมเปิดโอกาสให้เชื้อไวรัสนิปาห์แพร่ไปยังสุกรอยู่ระยะหนึ่ง และในเวลาต่อมาเชื้อก็สามารถแพร่ติดต่อมายังคนได้ในที่สุด

- อุตสาหกรรมการผลิตอาหารโดยการเลี้ยงสัตว์ที่ขาดการจัดการที่ดี มีส่วนทำให้เกิดเชื้อโรคชนิดใหม่เช่น กรณีโรควัวบ้า (Mad Cow disease) หรือโรคสมองฝ่อในวัว (Bovine SpongiformEncephalopathy : BSE) เกิดจากการใช้เศษเนื้อเศษกระดูกของแกะ (ซึ่งติดเชื้อสมองฝ่อScrapie) มาเลี้ยงวัว เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำนม ทำให้เกิดโรคสมองฝ่อแบบใหม่ (Variant  Creutzfeldt-Jacob Disease : vCJD) ในมนุษย์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากพริออน (prion) หรือกรณีการเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างหนาแน่น เพื่อการส่งออกในหลายประเทศของเอเชีย โดยขาดการจัดการป้องกันการแพร่เชื้อเข้ามาสู่ฟาร์ม (Biosecurity) ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก

- ภาวะโลกร้อน (Global warming) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเกิดความกังวลต่อปัญหาภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากพบว่าในศตวรรษที่ 21 นี้ อุณหภูมิของโลกได้เพิ่มสูงขึ้นอีก 1 - 4 องศาเซลเซียส ทำให้แมลงพาหะนำโรคต่างๆ สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้มากขึ้น และขยายพื้นที่อยู่อาศัยออกไปข้ามประเทศหรือทวีปได้ขณะเดียวกัน จุลชีพก่อโรคต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยอยู่กับแมลงเหล่านี้ ก็พัฒนาเติบโตได้รวดเร็วขึ้นอีกด้วย



6.       ปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่  มีอะไรบ้าง

ตอบ        - ปัญหาความยากจน โดยเฉพาะในประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือประเทศกำลังพัฒนานั้น ได้

นำมาซึ่งสุขภาพไม่ดี ประชากรยากจนในชนบทและสลัมในเขตเมือง รวมทั้งแรงงานต่างด้าวผิด 

กฎหมายซึ่งอาจทำให้โรคติดต่อที่เคยควบคุมได้แล้ว กลับเข้ามาระบาดซ้ำในประเทศได้อีก และ 

ประชากรกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคต่าง ๆ ได้มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ เนื่องมาจาก 

ความด้อยโอกาสในการเข้าถึงข่าวสาร ระบบบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และระบบบริการทาง 

การแพทย์และการสาธารณสุข ทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ ไม่ทราบวิธีป้องกัน 

ตนเองจากโรคเหล่านั้น เป็นผลต่อเนื่องทำให้ขาดพฤติกรรมสุขอนามัยที่ช่วยป้องกันตนเองจาก 

โรคติดต่อ 

- การเพิ่มขึ้นของการเดินทางและการค้าระหว่างประเทศ (International travel and trade factors) ปัจจุบันการเดินทางระหว่างประเทศมีจำนวนเพิ่มและสะดวกรวดเร็วขึ้นมาก รวมทั้งมีการเคลื่อนย้ายของประชากรข้ามพรมแดน ตลอดจนการขนส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้โรคติดต่ออุบัติใหม่ สามารถแพร่กระจายจากพื้นที่หนึ่งไปสู่พื้นที่อื่นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมักก่อให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรงอย่างกว้างมาก ดังเช่นการแพร่ระบาดของโรคซาร์สไปยังประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ รวม 29 ประเทศภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว การแพร่ระบาดทั่วโลกของไข้หวัดใหญ่ในศตวรรษที่ 20 รวม 3 ครั้งนั้นพบว่า ใช้เวลาลดลงเมื่อการคมนาคมสะดวกสบายรวดเร็วขึ้น และล่าสุดการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่(H1N1) 2009 ที่แพร่ไปพร้อมกับผู้เดินทางทางอากาศ โดยใช้เวลาเพียงสองเดือนเศษก็แพร่ไปทั่วโลก

- การค้าสัตว์ระหว่างประเทศ อาจนำเชื้อใหม่แพร่ติดเข้าไปด้วย เช่น การระบาดของไข้หวัดนกในฮ่องกง เกิดจากการนำเข้าไก่จากจีน การระบาดของโรควัวบ้าในฝรั่งเศสและประเทศอื่น ๆ ที่เกิดจากการนำเข้าเศษเนื้อเศษกระดูกวัวเพื่อเป็นอาหารสัตว์จากอังกฤษ นอกจากนั้น ในกระบวนการขนส่งสินค้า หากละเลยมาตรการสุขาภิบาลที่ด่านเข้าเมือง ก็จะเป็นโอกาสเอื้อให้สัตว์ ยุง และแมลงพาหะอื่น ๆ แพร่ขยายพันธุ์ออกไปจากแหล่งพักพิงดั้งเดิม และอาจนำเอาเชื้อก่อโรคอันตรายติดไปด้วย

- การลักลอบการนำเข้าสัตว์ป่าจากต่างประเทศเพื่อมาเป็นสัตว์เลี้ยง อาจนำโรคใหม่ ๆ เข้ามาในพื้นที่ซึ่งไม่เคยพบเชื้อและคนไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อนั้นมาก่อน เช่น หนูแกมเบียนจากอาฟริกานำโรคฝีดาษลิง (Monkey pox) เข้าไปในสหรัฐอเมริกา ไทยพบเชื้อซาลโมเนลลาสายพันธุ์ใหม่ในอิกัวนาจากอาฟริกามากถึง 11 ชนิด และแมลงสาบยักษ์จากเกาะมาดากัสการ์ก็อาจก่อปัญหาในทำนองเดียวกัน หมูจิ๋วกับปัญหาไข้สมองอักเสบ เจ อี สัตว์ปีกกลุ่มนกแก้วกับโรคสิตตาโคซิส(Psittacosis) นอกจากนั้น ในประเทศไทย พบมีการนำนากหญ้าและหอยเชอรี่จากไต้หวันเข้ามาเลี้ยงเป็นอาหาร ซึ่งอาจทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่เอื้อต่อการเกิดโรคระบาดของโรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคฉี่หนูเพิ่มขึ้น รวมถึงการนำพ่อแม่พันธุ์สัตว์เข้ามาขยายพันธุ์ในเชิงพาณิชย์ เช่น ไก่ เป็ด โค สุกร ม้า สุนัข ก็อาจเป็นการนำเชื้อเข้าแพร่กระจายได้ในทำนองเดียวกัน

- ปัจจัยด้านโครงสร้างสาธารณสุข (Public health infrastructure factors) การขาดแคลนทรัพยากรและงบประมาณในระบบสาธารณสุข การไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาโรคติดต่อ รวมทั้งการละเลยมาตรการป้องกันควบคุมโรคของประเทศต่าง ๆ อาจนำไปสู่ปัญหาการระบาดใหญ่ตรงกันข้าม การมีระบบและโครงสร้างสาธารณสุขที่เข้มแข็ง จะช่วยให้สามารถค้นหาการระบาดของโรคและสกัดกั้นการระบาดได้อย่างรวดเร็ว เท่ากับเป็นการลงทุนด้านงบประมาณและกำลังบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่จะต้องสูญเสียไปกับการรักษาและการแก้ไขปัญหาที่ปลายทางเมื่อเกิดการระบาดขึ้นแล้ว

- ปัญหาการก่อการร้ายโดยการใช้เชื้อโรคมาผลิตเป็นอาวุธ (Bioterrorism) เช่น เหตุการณ์ในสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ.2545 ผู้ก่อการร้ายใช้สปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์ผสมผงแป้ง บรรจุลงในจดหมายและไปรษณียภัณฑ์ นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงที่ผู้ก่อการร้ายอาจใช้เชื้อโรคอื่น ๆ กลับมาสร้างปัญหาสาธารณสุขสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เช่น เชื้อไวรัสไข้ทรพิษ ซึ่งถูกกวาดล้างไปจากโลกแล้ว



7.       โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่  2009 เป็นโรคระบาดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดใด 

ตอบ   ชนิด A (H1N1)

about dengue fever

             
   สถานการณ์การเกิดโรค dengue feverของประเทศ ปี ๒๕๕๕ พบว่า ตั้งแต่ ๑ มกราคม-๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ พบผู้ป่วยโรค dengue feverสะสมทั่วประเทศ จำนวน๘,๙๓๔ ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว  ๙ ราย เมื่อแยกเป็นรายภาคพบว่าภาคกลางมีจำนวนผู้ป่วยมากรองลงมาคือภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ พื้นที่ที่พบอัตราป่วยสูง คือหลายจังหวัดในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน และบางจังหวัดในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนในภาพรวมของประเทศกับค่ามัธยฐาน ๕ ปีย้อนหลัง พบว่าอัตราป่วยเริ่มสูงในอัตราใกล้เคียงกัน แต่เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลระดับจังหวัดในพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีอัตราป่วยสูงดังกล่าว พบว่าในหลายพื้นที่มีอัตราป่วยในปีพ.ศ. ๒๕๕๕ สูงกว่าค่ามัธยฐาน ๕ ปีย้อนหลังมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ เดือน ในส่วนของข้อมูลผู้เสียชีวิตพบว่ามีแนวโน้มพบในกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น (๗ รายจากผู้เสียชีวิตทั้งหมด ๙ รายอายุมากกว่า ๑๕ ปี) โดยเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลปีพ.ศ. ๒๕๕๔ และค่ามัธยฐาน ๕ ปีย้อนหลัง ผู้เสียชีวิตในปีนี้มีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าเดิม  
              จากที่พบการระบาดในหลายพื้นที่ตั้งแต่ช่วงที่ยังไม่เข้าฤดูฝนร่วมกับมีการพบผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ในวัยผู้ใหญ่ ทำให้มีแนวโน้มว่าการระบาดในปีนี้อาจจะรุนแรงรวมทั้งมีผู้เสียชีวิตมากกว่าปกติ
 
            
จากรายงานการตรวจหาซีโรทัยป์ไวรัสไข้เลือดออก ปี ๒๕๕๕ (๑ มกราคม-๒๗ เมษายน ๒๕๕๕)ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  พบว่า จากการตรวจตัวอย่างในภาคกลางทั้งหมดจำนวน ๑๐๕ ตัวอย่างให้ผลบวกต่อซีโรทัยป์ ๕๐ ตัวอย่าง จำแนกเป็น DEN-V1  ๒๖ %  DEN-V2  ๔๔ %  DEN-V3  ๒๘ %  และ DEN-V4  %
ในขณะนี้ฤดูฝนของประเทศไทยได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม(จากการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา) พยากรณ์อากาศในรอบ ๓ เดือน(เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ๒๕๕๕) ของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ในเดือนพฤษภาคม บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ มีฝนเพิ่มมากขึ้น เดือนมิถุนายน ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก จากการคาดหมายฝนปี ๒๕๕๕ เปรียบเทียบกับค่าปกติ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ในภาคกลางจะมีฝนสูงกว่าปกติเล็กน้อย
เนื่องจากช่วงนี้  เป็นช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งกำลังจะย่างเข้าสู่ฤดูฝน  เป็นช่วงที่สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงมีทั้งร้อน มีทั้งฝนตกชื้นแฉะ  ในหลาย ๆ พื้นที่กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของยุงลายพาหะของเชื้อโรคไข้เลือดออก  และจากการสำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย (House Index) ในพื้นที่สาธารณสุขเขต ๓ และ ๙ของศูนย์โรคติดต่อนำโดยแมลง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๓ จังหวัดชลบุรี ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ๒๕๕๕ พบดังนี้ จังหวัด ชลบุรี ๑๘.๓๔ %  ระยอง ๒๓.๐ % จันทบุรี ๑๓.๐ % ตราด ๑๗.๓๔ % ฉะเชิงเทรา ๒๑.๐ % ปราจีนบุรี ๒๑.๖๑%สระแก้ว ๒๗.๔๕ % สมุทรปราการ ๑๕.๐ % และนครนายก ๓๔.๐ % ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระบาดได้ เกรงว่าจะทำให้ประชาชนเสี่ยงป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ง่าย และอาจทำให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงซึ่งได้แก่ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ       และผู้พิการ รวมถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติ แรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานเพื่อนบ้านที่เข้ามาท่องเที่ยว  หรือมาประกอบอาชีพในประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสเจ็บป่วยและแพร่เชื้อโรคได้
 
ข้อเสนอแนะเพื่อการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
. หน่วยงานสาธารณสุขในทุกพื้นที่ควรเร่งดำเนินการควบคุมลูกน้ำยุงลาย และกำจัดยุงตัวแก่ในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะในโรงเรียนก่อนเปิดเทอม อย่างเข้มข้นในช่วงต้นฤดูฝนนี้
๒. เฝ้าระวังการเกิดโรคไข้เลือดออก  โดยการเร่งรัดให้มีการรายงานที่รวดเร็ว  ควรซักซ้อมเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยาในโรงพยาบาลให้รายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายใน ๒๔ ชั่วโมง เพื่อให้ทีม SRRT สามารถเข้าไปดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
๓. ดำเนินการสอบสวนผู้ป่วยโดยเฉพาะรายแรกของหมู่บ้านทุกราย  ในการสอบสวนให้ติดตามการเจาะเลือดส่งตรวจยืนยันและหาชนิดของเชื้อโรคไข้เลือดออก  เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค และประเมินความรุนแรงของการระบาดของโรคในพื้นที่  กล่าวคือ หากพบว่าเป็นเชื้อต่างชนิด(Type) กับปีที่ผ่านมาโรคมักจะมีแนวโน้มระบาดในขอบเขตที่กว้างกว่า เนื่องจากภูมิต้านทานต่อเชื้อไข้เลือดออกไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้เต็มที่  ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกทั้งจากเชื้อต่างชนิดหรือชนิดเดียวกันได้
๔. ควรควบคุมโรคในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย โดยการกำจัดลุกน้ำยุงลายในชุมชน และพ่นสารเคมีฆ่ายุงพาหะ  การพ่นควรพ่นในวันแรกที่ได้รับรายงานผู้ป่วยในรัศมี ๑๐๐ เมตร  และพ่นหลังจากนั้นอีก ๗ วัน  เพื่อกำจัดยุงลายที่อาจหลงเหลืออยู่
๕. ทีม SRRT ควรเตรียมพร้อมรับการระบาดของโรค  โดยการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น ฝึกซ้อมเจ้าหน้าที่และเครือข่ายทั้งของรัฐ  ท้องถิ่น  และเอกชนให้มีความรู้และสามารถดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๖. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน  ร่วมกันป้องกันการระบาดของโรค  ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุง  โดยการกำจัดขยะและสิ่งของเหลือใช้ที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย  ตัดและริดกิ่งไม้ในบริเวณบ้านไม่ให้รกรุงรัง

โสดแบบนักวิชาการสาธารณสุข

    ปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ทำให้นักวิชาการสาธารณสุขจำนวนมากนิยมที่จะอยู่เป็นโสดกันมากขึ้น

    ซึ่งการอยู่เป็นโสดนั้น แม้จะมีอิสระได้เป็นตัวของตัวเอง สามารถทำอะไรได้ตามใจชอบมีเวลาเป็น ของตัวเอง มีรายได้ที่จะใช้จ่ายได้ตามอำเภอใจ แต่บางครั้งคนโสดก็อาจจะไม่มีความสุข เพราะรู้สึกโดดเดี่ยว เหงาและว้าเหว่ ผมจึงมีข้อเสนอแนะสำหรับนักวิชาการสาธารณสุขที่ยังโสด  เพื่อให้ใช้ชีวิตโสดอย่างมีความสุข

    ประการแรก คือการใช้ชีวิตอย่างสมดุล มีการแบ่งเวลาให้ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ทั้งการทำงาน การพักผ่อนหย่อนใจส่วนตัว การสังสรรค์กับเพื่อนฝูง การดูแลพ่อแม่ญาติพี่น้อง และการทำกิจกรรมเพื่อ สังคม ทั้งนี้ก็เพราะคนโสดจะมีเวลาว่างมาก จึงจำเป็นต้องมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้เหงา และไม่จำ เจอยู่กับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งจนเกิดความเบื่อหน่าย และช่วยให้ใช้เวลาได้อย่างมีประโยชน์ทั้งต่อตัวเอง และต่อผู้อื่นด้วย

    ประการที่สอง คือการเตรียมตัวสำหรับอนาคต ทั้งด้านการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง อยู่เสมอ เพราะ ถ้าเจ็บป่วยขึ้นมาจะลำบาก ไม่มีใครคอยปรนนิบัติดูแล ควรจะต้องเก็บออมเงินทอง เอาไว้พอสมควร โดยเฉพาะควรจะหาที่อยู่เป็นของตัวเอง จะได้ไม่ต้องไปอาศัยใครให้ลำบากเมื่อถึงวัยสูงอายุ

    ประการที่สาม คือการพัฒนาตัวเอง การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และการเข้าสังคม อย่าเก็บตัวหรือหยุดอยู่ กับที่ เพราะจะทำให้ชีวิตอับเฉา รู้ไม่เท่าทันคนอื่น ควรศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ คบเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ เพื่อ ขยายวงสังคมให้กว้างขึ้น จะได้ไม่เหงา และจะได้มีกิจกรรมต่างๆ ทำมากขึ้นด้วย

    ประการที่สี่ คือการเตรียมหาทายาทหรือคนที่จะฝากผีฝากไข้ อาจเป็นเพื่อนสนิท ญาติพี่น้อง หลานๆ หรือคนใกล้ชิดที่ไว้ใจได้ โดยคุณจะต้องดีกับเขาให้มากๆ ตั้งแต่ตอนนี้อย่าตระหนี่ถี่เหนียว หรือทำอะไรที่ ทำลายน้ำใจพวกเขา เพื่อที่เขาจะได้ดีต่อคุณในภายหน้าเช่นกัน

    ประการสุดท้าย คือหากเจอคนที่ถูกใจและคิดว่าไปกันได้ การสละโสดก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถึงแม้ คุณจะอายุมากแล้วก็ไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพราะการแต่งงานเป็นการสร้างความอบอุ่นทางจิตใจ ไม่ใช่จะเป็นแค่ การสืบทายาท หรือการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น

กลยุทธ์ส่งเสริมสุขภาพ


กลยุทธ์ในการส่งเสริมสุขภาพตามกฎออตาวา

มีการนำแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพไปประยุกต์ใช้หลายประเทศ  และตั้งแต่ปี  1995 มีการ
ประชุมเกี่ยวกับแนวคิดนี้หลายครั้งเพื่อให้เกิดแนวทางดำเนินการที่เป็นรูปธรรม   แต่โดยภาพรวมกลยุทธ์การส่งเสริมสุขภาพ ประกอบด้วย
1)การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (Healthy Public Policies) 
            2) การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพ (Create Supportive Environment) 
3)การเสริมสร้างกิจกรรมของชุมชนให้เข้มแข็ง (Strengthen Community Activities) 
4) การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล (Development Personal Skills) 
5) การปรับเปลี่ยนบริการสาธารณสุข (Reoriented Health Service)
            ดังนั้น    การส่งเสริมสุขภาพจึงมุ่งหวังให้เกิดการมีสุขภาพดีในระดับสูงสุด  โดยจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมส่วนบุคคล  หรือสิ่งแวดล้อมที่บุคคลอาศัยอยู่   ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีภาวะสุขภาพคงที่  มีการป้องกันโรคและคงไว้ซึ่งภาวะสุขภาพที่ดีนำมาก่อน   การส่งเสริมสุขภาพจึงเป็นกระบวนการที่เป็นพลวัตรมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา  เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางสุขภาพและมีความผาสุกเพิ่มมากขึ้น

2.2   แนวคิดการป้องกันโรค ( Disease Prevention)
            การป้องกันโรค   เป็นการปฏิบัติพฤติกรรมการป้องกันล่วงหน้าก่อนจะมีการเกิดโรค   โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อให้มีสุขภาพดี    แนวทางสำคัญ คือ การสร้างประสบการณ์ให้เกิดการเรียนรู้ด้านสุขภาพและการเกิดโรคในกลุ่มประชาชน  ด้วยเหตุนี้แนวคิดการป้องกันโรคและแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพ   จึงมักถูกเข้าใจว่าเหมือนกัน    ซึ่งในความเป็นจริงแนวคิดทั้งสองมีความแตกต่างกัน   ประภาเพ็ญ    สุวรรณ และคณะ (2538)  กล่าวว่า  การป้องกันโรคมีแนวความคิดหลัก คือ การป้องกันการเกิดพยาธิสภาพ    เครื่องบ่งชี้ความสำเร็จ ได้แก่   การลดอัตราการเกิดโรค   การลดอัตราตายและภาวะทุพลภาพ     สำหรับการส่งเสริมสุขภาพนั้นมุ่งเน้นให้เกิดภาวะสุขภาพที่ดี  มีความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพชีวิต  มีความเป็นตัวของตัวเอง   รู้สึกมีคุณค่า  เคารพตนเองและสามารถควบคุมทรัพยากรได้ด้วยตนเอง
ตามแนวคิดทางวิทยาการระบาด   เชื่อว่าโรคเกิดจากภาวะไม่สมดุลระหว่าง 3 ปัจจัย    ได้แก่ Agent หมายถึง สิ่งที่ทำให้เกิดโรค    Host หมายถึง บุคคลหรือคน  และ Environment หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดโรค  ( Claudia and Frances, 2000)    ซึ่งระดับของการป้องกันแบ่งออกเป็น  3  ระดับ  (Claudia and Frances, 2000;   Leavell and Clork, 1958 อ้างใน Janice and Mary , 1997)   มีรายละเอียด ดังนี้

1)      การป้องกันระดับปฐมภูมิ  (Primary Prevention)  เป็นการป้องกันในขณะ
ที่ยังไม่มีโรคเกิดขึ้น   มีจุดเน้นที่การส่งเสริมสุขภาพโดยทั่วไป (Health promotion) นับเป็นการป้องกันที่สำคัญมาก เพราะเป็นการเสริมสร้างให้บุคคลมีความแข็งแรงสมบูรณ์  ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ทางสังคม  อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนงานป้องกันในระดับอื่น ๆ  ให้ดียิ่งขึ้น  นอกจากนี้การป้องกันระดับปฐมภูมิยังรวมถึงการปกป้องสุขภาพเฉพาะอย่าง (Specific  protection)  เพื่อต่อต้านโรคที่อาจจะเกิดขึ้น  เช่น  การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค  การให้เด็กนักเรียนอมน้ำฟลูออไรด์เพื่อป้องกันโรคฟันผุ  การแจกเกลือผสมไอโอดีนแก่ชาวบ้านเพื่อป้องกันโรคคอพอก   และการควบคุมพาหะนำโรค
2)      การป้องกันระดับทุติยภูมิ  (Secondary Prevention)   เป็นการป้องกัน
หลังจากที่มีโรคเกิดขึ้นแล้ว  มีจุดเน้นที่การวินิจฉัยแต่แรกเริ่ม และให้การรักษาทันทีเพื่อหยุดกระบวนการเกิดโรค  เพื่อให้มีระยะของความรุนแรงของโรคน้อยที่สุด  ป้องกันการแพร่กระจาย และช่วยลดระยะเวลาการเจ็บป่วย    
                        3) การป้องกันระดับตติยภูมิ  (Tertiary  Prevention) ในขั้นนี้ไม่เพียงแต่จะหยุดกระบวนการเกิดโรคเท่านั้น  แต่รวมไปถึงการป้องกันการเกิดความพิการที่ถาวร  เพราะเป็นขั้นที่ป่วยมากและมีความพิการเกิดขึ้น  (Stage of disability of advanced disease)  ในขั้นนี้มุ่งเน้นการลดภาวะแทรกซ้อน และลดความพิการ  ตลอดจนผลเสียต่าง ๆ     ที่จะตามมาภายหลังการเกิดโรค  เพื่อให้บุคคลสามารถกลับคืนสู่ความเป็นปกติในระดับหนึ่งเท่าที่จะเป็นไปได้

นิยามสุขภาพ

       สุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย  การแก้ปัญหาจึงต้องมองในหลายมิติ  ปัญหาสุขภาพในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุขภาพที่สามารถป้องกันได้  ในแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 9  จึงเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันมาสร้างเสริมสุขภาพ    ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะการจัดการด้านสุขภาพ  รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม  โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในสังคม  แทนที่จะเป็นเพียงการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ภาครัฐเท่านั้น   พยาบาลสร้างเสริมสุขภาพมีความจำเป็นที่จะต้องปรับบทบาทโดยเน้นการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกมากขึ้น  และการมีความรู้ความเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับสุขภาพ     และแนวคิดพื้นฐานสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพ  จะช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนได้อย่างสอดคล้องกับสภาพปัญหาและบริบทสังคม  ซึ่งจะก่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีตามมา

   คำว่า สุขภาพ  หรือ  “Health”  มีรากศัพท์มาจากภาษาเยอรมันว่า “Hoelth”   มีความหมายเกี่ยวข้องกับ  ความปลอดภัย (Safe) ไม่มีโรค (Sound) และ ทั้งหมด (Whole)   ซึ่งความหมายที่ว่าทั้งหมดนี่เอง  การพิจารณาสุขภาพจึงต้องมองในหลายมิติ อย่างเชื่อมโยงกับเรื่องต่าง ๆ  เช่น เศรษฐกิจ  สังคม  ครอบครัว  ชุมชน  วัฒนธรรม  สิ่งแวดล้อม  การเมือง  การศึกษา ฯลฯ    เพื่อนำไปสู่ความสมดุล  ทำให้เกิดสุขภาวะที่สมบูรณ์ 

   กล่าวได้ว่า   วิวัฒนาการการให้ความหมายของคำว่า สุขภาพ   มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย  เนื่องจากองค์ประกอบที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมีหลายอย่างและมีการเปลี่ยนแปลง    ประกอบกับสุขภาพเป็นภาวะที่มีความต่อเนื่อง  และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    อย่างไรก็ตามในระยะหลัง  การให้ความหมายของสุขภาพมีองค์ประกอบที่ถูกอ้างอิง  หรือกล่าวถึงมากที่สุดเกี่ยวข้องกับสุขภาวะ   3 ด้าน  ได้แก่  ด้านร่างกาย  จิตใจ และสังคม   ต่อมาศาสตราจารย์      นายแพทย์ประเวศ  วะสี  ได้พิจารณาบริบทในสังคมไทย จึงได้เพิ่มสุขภาวะทางจิตวิญญาณเข้าไป


แนวคิดสุขภาพพอเพียง   เป็นแนวคิดที่เชื่อมโยงมาจาก  ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่เน้นให้คนไทยทุกภาคทุกส่วนของสังคมไทยมีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยยึดหลักความพอดีกับศักยภาพของตนเองบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง   มีความเอื้ออาทรต่อคนอื่น ๆ  แนวปฏิบัติตนในทุกกิจกรรม  ในทุกอาชีพต้องยึดวิถีชีวิตไทย   อยู่แต่พอดี  ไม่ฟุ่มเฟือย  ไม่ยึดวัตถุแต่ให้ยึดทางสายกลาง   อยู่กินตามฐานะ  ใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิต  เจริญเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป  ตั้งอยู่บนหลักการ  รู้รักสามัคคี  ใช้สติปัญญาปกป้องตนเองไม่ให้ลุ่มหลงกระแสโลกาภิวัตน์   ให้คำนึงถึงเหตุผลตามสภาพแวดล้อมของไทย   รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งเลว  ขจัดข้อขัดแย้งไปสู่ความประนีประนอมรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง  ทั้งนี้ในการพัฒนาระบบสุขภาพยึดหลักการสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1) ยึดหลักทางสายกลาง 2) ยึดหลักความสมดุล 3) ยึดหลักความพอประมาณ 4) สร้างระบบภูมิคุ้มกัน และ 5) สร้างระบบการเรียนรู้ให้เท่าทันโลก
          การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากำหนดเป็นทิศทางในการพัฒนาระบบสุขภาพ  ก็เพื่อทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย  ทางใจ  ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ   เชื่อมโยงับสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและชีวภาพที่มีผลต่อสุขภาพอย่างสมดุล  
  

นักวิชาการสาธารณสุขมืออาชีพ


นักวิชาการสาธารณสุขมืออาชีพ

ผมเองทำงานในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขมาประมาณ 6-7ปี

เรียกได้ว่ามีประสบการณ์กำลังพอดี ไม่มาก ไม่น้อยจนเกินไป

วันนี้ผมก็ขอเล่าเรื่องของผมเพื่อแชร์ประสบการณ์ให้น้องๆที่จบใหม่หรือน้องที่กำลังคิดจะเรียนสาธารณสุขนะครับ

เริ่มแรกที่ผมจบมาใหม่ๆ

ผมลุ้นจนบางส่วนของร่างกายแข็ง

ลุ้นว่าจะได้ทำงานที่โรงพยาบาลหรือที่สถานีอนามัย

ผลปรากฏว่าผมได้ทำงานที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในภาค อิสานครับ

นักวิชาการสาธารณสุขมีงานที่ต้องทำทั้งหมด 4 ด้าน คือ ส่งเสริม ป้องกัน  รักษา และฟื้นฟู

ผมเชื่อว่านักวิชาการสาธารณสุขหลายๆคนเป็นเหมือนผมคือยังไม่รู้ว่าตัวเองถนัดงานอะไรในสี่งานที่ว่า

และถึงรู้ว่าตัวเราเองถนัดงานอะไร มีจุดแข็งอะไร

แน่นอนไม่ว่าจะถนัดหรือไม่ถนัดเราก็ต้องทำงานที่อยู่ตรงหน้าอยู่ดี

อาทิเช่น ถนัดงานรักษาและป้องกันโรค แต่ต้องได้ทำงาน พิมพ์บัตรทอง,พิมพ์บัตรจ่ายตรง


สิ่งที่ผมอยากแนะนำน้องที่จบและมาทำงานใหม่ๆคือ ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ตนเองถนัดหรือไม่ถนัดก็ขอให้ทำงานนั้นๆไปก่อน อย่าเพิ่งเลือกงาน  เหตุผลที่ต้องทำเช่นนั้นก็คือเพื่อไม่ให้พี่เหม็นขี้หน้าและเพื่อความอยู่รอด


หลังจากที่เรามีประสบการณ์สัก1-2ปีเราจะเริ่มรู้จักตัวตนที่แท้จริงว่าถนัดงานที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่แรกหรือไม่

ในตอนแรกเราอาจจะไม่ชอบ แต่พอได้ทำผลงานกลับออกมาดี หากเป็นเช่นนั้นก็จงทำต่อไป

แต่หากตั้งใจทำสุดความสามารถแล้ว ผลงานยังออกมาเท่ากับคนที่ไม่ได้ตั้งใจทำงาน ก็จงมองหาโอกาสที่จะทำในสิ่งที่ตนเองถนัดมากขึ้น โดยการเขียนของย้ายฝ่ายหรือย้ายสถานที่ทำงาน

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานช่วงเริ่มต้นของนักวิชาการสาธารณสุข  คือการค้นหางานที่ตนเองถนัดและสร้างโอกาสที่จะได้ทำงานนั้น ผมคิดว่าเทคนิคเหล่านี้น่าจะพอช่วยน้องๆได้ครับ

1 ทำงานที่ได้รัยมอบหมายให้เต็มที่ เต็มความสามารถ เพราะมันเป็นวิธีที่จะทำให้เราค้นพบว่าเราถนัดหรือไม่ถนัดอะไร

2 นอกเหนืองานประจำแล้วให้มองหาโอกาสที่จะทำงานที่ตัวเองถนัดนอกเขตพื้นที่รับผิดชอบ ยกตัวอย่าง หากงานประจำเราคือรับผิดชอบด้านข้อมูลสารสนเทศ ในวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ อาจอาสาไปช่วยเพื่อนตรวจคนไข้ที่สถานีอนามัย

3.ทำในสิ่งที่ไม่ถนัดให้เต็มที่ เพราะเจ้านายจะได้เห็นว่าขนาดสิ่งที่เราไม่ถนัดเรายังทำเต็มที่แสดงถึงความมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของเรา

4 ห้ามบ่นเมื่อเจอปัญหา แต่ให้มองหาทางแก้ในทันที เพราะสมองมีพลังงานจำกัด ต้องเก็บพลังงานนั้นไว้สำหรับแก้ปัญหา ไม่ใช่เอาไว้บ่น

“ของาน อย่าอยู่เฉย อย่างเกี่ยง”

Popular Posts

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

 
Copyright © 2011 toncub | High CTR Blogspot Themes designed by Ali Munandar | Powered by Blogger.Com.
My Zimbio