ขับเคลื่อนโดย Blogger.

แนวโน้มโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีความเสี่ยงสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน

      
   สถานการณ์ของโรคติดต่ออุบัติใหม่ในปัจจุบัน มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยโรคติดต่ออุบัติใหม่ ที่เกิดในมนุษย์จำนวนมากมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ หรือสัตว์ป่า และมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมากมาย ได้แก่ การเคลื่อนย้ายของประชากร สัตว์พาหะนำโรค เช่น ยุง การขาดความรู้ความเข้าใจและความตระหนักในการป้องกันควบคุมโรคของประชาชน การปฏิบัติตนยังไม่ถูกต้องตาม
หลักสุขอนามัยหรือสุขลักษณะ การที่มีกลุ่มคนอยู่กันอย่างหนาแน่น ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ ได้แก่ ผู้ที่มีความต้านทานต่อโรคต่ำ เช่น กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 หรือน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไป) หรือกลุ่มอาชีพเฉพาะ เช่น เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อสัตว์ สัตวบาล และสัตวแพทย์ รวมทั้งกลุ่มที่อาจมีการแพร่โรคหรือรับโรคได้ง่าย เช่น กลุ่มผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก หรือกลุ่มผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ
การประเมินความเสี่ยงของโรคติดต่ออุบัติใหม่เป็นส่วนสำคัญในการคาดการณ์ความเสี่ยงและแนวโน้มของการเกิดโรค อันจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะแนวทางการป้องกันควบคุมโรคได้
อย่างถูกต้องและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีความเสี่ยงสำหรับประเทศไทย อาจแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ
1. โรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำที่พบในประเทศไทย ได้แก่ โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก โรคลีเจียนแนร์ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้กาฬหลังแอ่นจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ เช่น serogroup W-135 และสายพันธุ์อื่นๆ ที่อาจเข้ามากับแรงงานต่างด้าว
2. โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ เช่น โรคไข้เหลือง (Yellow fever)
โรคลิชมาเนียสิส (Leishmaniasis) โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah viral disease) โรคไข้เวสต์ไนล์ (West nile fever) โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา-มาร์บูร์ก (Ebola-marburg viral disease) โรคสมองฝ่อวาเรียนท์ (variant-Creutzfeldt-Jakob disease: vCJD) ที่เกิดจากจากโรคสมองฝ่อในวัว หรือ   โรควัวบ้า (Bovine Spongiform Encephalophathy: BSE or mad cow disease) และโรคที่อาจเข้ามากับสัตว์ เช่น โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) และโรคติดเชื้อจากการใช้อาวุธชีวภาพ (Bioterrorism) เช่น โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ไข้ทรพิษ (Smallpox) กาฬโรค (Plague)
3. โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคจากเชื้อดื้อยาชนิดใหม่
    ผลจากการประเมินความเสี่ยงโดยใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยา ข้อมูลด้านชุมชน ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ฐานข้อมูลประชากรจากกรมการปกครอง ข้อมูลด้านปศุสัตว์ เพื่อการคาดการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่จะเป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่กลุ่มเสี่ยงในประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ. 2553 นั้น พบว่า โรคที่มีคะแนนความเสี่ยงสูงมาก และความเสี่ยงสูง ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล   โรคมือ เท้า ปาก โรคไข้หวัดนก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal infection) โรคติดเชื้อจากสเตรฟโตคอกคัสซูอิส (Streptococcus suis) และโรคชีวพิษโบทูลิซึม (Bolulism) นอกจากนี้ ยังควรต้องระมัดระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ ที่มีอยู่ประปรายในพื้นที่ เช่น โรคลีเจียนแนร์ โรคเมลิออยโดสิส รวมทั้ง โรคที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคไข้เวสต์ไนล์ หรือโรคที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็น
ที่จะต้องมีศักยภาพ ระบบ และเครื่องมือในการป้องกันควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ รวมทั้งมี
การเตรียมพร้อมตอบโต้โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีประสิทธิภาพ อันจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม ที่จะเกิดตามมาจากการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Popular Posts

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

 
Copyright © 2011 toncub | High CTR Blogspot Themes designed by Ali Munandar | Powered by Blogger.Com.
My Zimbio