กลยุทธ์ในการส่งเสริมสุขภาพตามกฎออตาวา
มีการนำแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพไปประยุกต์ใช้หลายประเทศ และตั้งแต่ปี
1995 มีการ
ประชุมเกี่ยวกับแนวคิดนี้หลายครั้งเพื่อให้เกิดแนวทางดำเนินการที่เป็นรูปธรรม แต่โดยภาพรวมกลยุทธ์การส่งเสริมสุขภาพ
ประกอบด้วย
1)การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (Healthy Public
Policies)
2) การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพ
(Create Supportive Environment)
3)การเสริมสร้างกิจกรรมของชุมชนให้เข้มแข็ง (Strengthen Community
Activities)
4) การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล
(Development Personal Skills)
5) การปรับเปลี่ยนบริการสาธารณสุข
(Reoriented Health Service)
ดังนั้น การส่งเสริมสุขภาพจึงมุ่งหวังให้เกิดการมีสุขภาพดีในระดับสูงสุด โดยจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมส่วนบุคคล หรือสิ่งแวดล้อมที่บุคคลอาศัยอยู่
ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีภาวะสุขภาพคงที่ มีการป้องกันโรคและคงไว้ซึ่งภาวะสุขภาพที่ดีนำมาก่อน
การส่งเสริมสุขภาพจึงเป็นกระบวนการที่เป็นพลวัตรมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา
เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางสุขภาพและมีความผาสุกเพิ่มมากขึ้น
2.2 แนวคิดการป้องกันโรค ( Disease Prevention)
การป้องกันโรค
เป็นการปฏิบัติพฤติกรรมการป้องกันล่วงหน้าก่อนจะมีการเกิดโรค
โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อให้มีสุขภาพดี แนวทางสำคัญ คือ
การสร้างประสบการณ์ให้เกิดการเรียนรู้ด้านสุขภาพและการเกิดโรคในกลุ่มประชาชน
ด้วยเหตุนี้แนวคิดการป้องกันโรคและแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพ จึงมักถูกเข้าใจว่าเหมือนกัน
ซึ่งในความเป็นจริงแนวคิดทั้งสองมีความแตกต่างกัน ประภาเพ็ญ
สุวรรณ และคณะ (2538) กล่าวว่า การป้องกันโรคมีแนวความคิดหลัก คือ
การป้องกันการเกิดพยาธิสภาพ
เครื่องบ่งชี้ความสำเร็จ ได้แก่
การลดอัตราการเกิดโรค
การลดอัตราตายและภาวะทุพลภาพ สำหรับการส่งเสริมสุขภาพนั้นมุ่งเน้นให้เกิดภาวะสุขภาพที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพชีวิต มีความเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกมีคุณค่า เคารพตนเองและสามารถควบคุมทรัพยากรได้ด้วยตนเอง
ตามแนวคิดทางวิทยาการระบาด เชื่อว่าโรคเกิดจากภาวะไม่สมดุลระหว่าง 3 ปัจจัย ได้แก่ Agent หมายถึง
สิ่งที่ทำให้เกิดโรค Host หมายถึง บุคคลหรือคน และ Environment
หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดโรค ( Claudia and Frances, 2000) ซึ่งระดับของการป้องกันแบ่งออกเป็น 3
ระดับ (Claudia
and Frances, 2000; Leavell and Clork,
1958 อ้างใน Janice and Mary , 1997) มีรายละเอียด ดังนี้
1) การป้องกันระดับปฐมภูมิ
(Primary Prevention) เป็นการป้องกันในขณะ
ที่ยังไม่มีโรคเกิดขึ้น มีจุดเน้นที่การส่งเสริมสุขภาพโดยทั่วไป (Health promotion) นับเป็นการป้องกันที่สำคัญมาก
เพราะเป็นการเสริมสร้างให้บุคคลมีความแข็งแรงสมบูรณ์ ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ทางสังคม อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนงานป้องกันในระดับอื่น
ๆ ให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้การป้องกันระดับปฐมภูมิยังรวมถึงการปกป้องสุขภาพเฉพาะอย่าง
(Specific protection) เพื่อต่อต้านโรคที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น
การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค การให้เด็กนักเรียนอมน้ำฟลูออไรด์เพื่อป้องกันโรคฟันผุ
การแจกเกลือผสมไอโอดีนแก่ชาวบ้านเพื่อป้องกันโรคคอพอก และการควบคุมพาหะนำโรค
2) การป้องกันระดับทุติยภูมิ
(Secondary Prevention) เป็นการป้องกัน
หลังจากที่มีโรคเกิดขึ้นแล้ว มีจุดเน้นที่การวินิจฉัยแต่แรกเริ่ม และให้การรักษาทันทีเพื่อหยุดกระบวนการเกิดโรค
เพื่อให้มีระยะของความรุนแรงของโรคน้อยที่สุด ป้องกันการแพร่กระจาย และช่วยลดระยะเวลาการเจ็บป่วย
3) การป้องกันระดับตติยภูมิ
(Tertiary Prevention) ในขั้นนี้ไม่เพียงแต่จะหยุดกระบวนการเกิดโรคเท่านั้น
แต่รวมไปถึงการป้องกันการเกิดความพิการที่ถาวร
เพราะเป็นขั้นที่ป่วยมากและมีความพิการเกิดขึ้น (Stage of disability of advanced
disease) ในขั้นนี้มุ่งเน้นการลดภาวะแทรกซ้อน
และลดความพิการ ตลอดจนผลเสียต่าง ๆ ที่จะตามมาภายหลังการเกิดโรค
เพื่อให้บุคคลสามารถกลับคืนสู่ความเป็นปกติในระดับหนึ่งเท่าที่จะเป็นไปได้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น