คำว่า “สุขภาพ” หรือ “Health” มีรากศัพท์มาจากภาษาเยอรมันว่า “Hoelth” มีความหมายเกี่ยวข้องกับ ความปลอดภัย (Safe) ไม่มีโรค (Sound) และ ทั้งหมด (Whole) ซึ่งความหมายที่ว่าทั้งหมดนี่เอง การพิจารณาสุขภาพจึงต้องมองในหลายมิติ อย่างเชื่อมโยงกับเรื่องต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การเมือง การศึกษา ฯลฯ เพื่อนำไปสู่ความสมดุล ทำให้เกิดสุขภาวะที่สมบูรณ์
กล่าวได้ว่า วิวัฒนาการการให้ความหมายของคำว่า สุขภาพ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เนื่องจากองค์ประกอบที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมีหลายอย่างและมีการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับสุขภาพเป็นภาวะที่มีความต่อเนื่อง และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามในระยะหลัง การให้ความหมายของสุขภาพมีองค์ประกอบที่ถูกอ้างอิง หรือกล่าวถึงมากที่สุดเกี่ยวข้องกับสุขภาวะ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ต่อมาศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้พิจารณาบริบทในสังคมไทย จึงได้เพิ่มสุขภาวะทางจิตวิญญาณเข้าไป
แนวคิดสุขภาพพอเพียง เป็นแนวคิดที่เชื่อมโยงมาจาก
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ที่เน้นให้คนไทยทุกภาคทุกส่วนของสังคมไทยมีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยยึดหลักความพอดีกับศักยภาพของตนเองบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง มีความเอื้ออาทรต่อคนอื่น ๆ แนวปฏิบัติตนในทุกกิจกรรม ในทุกอาชีพต้องยึดวิถีชีวิตไทย อยู่แต่พอดี ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ยึดวัตถุแต่ให้ยึดทางสายกลาง อยู่กินตามฐานะ ใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิต เจริญเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตั้งอยู่บนหลักการ รู้รักสามัคคี ใช้สติปัญญาปกป้องตนเองไม่ให้ลุ่มหลงกระแสโลกาภิวัตน์ ให้คำนึงถึงเหตุผลตามสภาพแวดล้อมของไทย รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งเลว ขจัดข้อขัดแย้งไปสู่ความประนีประนอมรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ในการพัฒนาระบบสุขภาพยึดหลักการสำคัญ
5 ประการ ได้แก่ 1) ยึดหลักทางสายกลาง 2) ยึดหลักความสมดุล 3) ยึดหลักความพอประมาณ
4) สร้างระบบภูมิคุ้มกัน และ 5) สร้างระบบการเรียนรู้ให้เท่าทันโลก
การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากำหนดเป็นทิศทางในการพัฒนาระบบสุขภาพ
ก็เพื่อทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางใจ
ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ
เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและชีวภาพที่มีผลต่อสุขภาพอย่างสมดุล
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น