ขับเคลื่อนโดย Blogger.

ยากำจัดพยาธิที่ก่อโรค

    
     พยาธิก่อโรคในคนจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มพยาธิตัวกลม(nematodes) และพยาธิตัวแบน (flatworms) , และ พยาธิใบไม้(trematodes:flukes) ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงวงจรชีวิตและลักษณะการติดต่อของพยาธิ แต่จะกล่าวถึงแต่ยากำจัดพยาธิ

Albendazole (Zentel@)
     เป็นยาที่ออกฤทธิ์ค่อนข้างกว้าง สามารถใช้ได้กับ พยาธิเส้นด้าย พยาธิตัวกลม พยาธิแส้ม้า พยาธิเส้นด้าย (Strongyloides) และ พยาธิปากขอ ยานี้สามารถดูดซึมผ่านทางเดินอาหารได้ การดูดซึมจะเพิ่มขึ้นถ้ารับประทานร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูง
     อาการไม่พึงประสงค์ การใช้ยาในระยะสั้นเพียง 1-3 วัน จะพบอาการไม่พึงประสงค์เพียงเล็กน้อย เช่น เสียดหน้าอก ท้องเดิน ปวดศรีษะ คลื่นไส้ เป็นต้น สำหรับการใช้ยาในระยะยาว (3 เดือน) อาการอื่นที่อาจพบได้ คือ อาการทางระบบทางเดินอาหาร (คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร) เนื้อตัวเหลือง ผมร่วงผื่นคัน และเม็ดเลือดขาวต่ำ
    ข้อห้ามใช้ ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคตับแข็ง
    ขนาดยา ยานี้ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปใช้ยาขนาดเดียวกัน จะให้รับประทาน 400 มก. ครั้งเดียว ในการถ่ายพยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิปากขอ ถ้าในกรณีพยาธิเข็มหมุด อาจให้รับประทานซ้ำอีกครั้งใน 2 สัปดาห์ ถ้าใช้ในการถ่ายพยาธิเส้นด้าย(Strongyloides) ให้ทานครั้งละ 400 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 7-14 วัน

Mebendazole (Benda@, Fugacar@)
     Mebendazole สามารถใช้ได้กับพยาธิตัวกลมทั้ง 5 ชนิด ยาชนิดนี้ จะดูดซึมได้น้อยในทางเดินอาหาร การรับประทานยานี้ร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูงจะช่วยให้การดูดซึมของยาสูงขึ้น Mebendazole จะออกฤทธิ์โดยทำให้การดูดซึม glucose ของพยาธิผิดไป ทำให้พยาธิค่อยๆ ตายแล้วจึงขับออกจากร่างกายใน 2-3 วันหลังการใช้ยา

     อาการไม่พึงประสงค์ การใช้ mebendazoleในขนาดต่ำ เป็นเวลา 1-3 วัน สำหรับพยาธิในทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์เพียงเล็กน้อย เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน ปวดท้อง การใช้ยาในขนาดสูงอาจทำให้เกิดผื่นคัน มีปริมาณ eosinophil เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ปริมาณ eosinophil ลดต่ำลง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ มีไข้
    ข้อห้ามใช้หรือข้อควรระวัง ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจทำให้เด็กชักได้
     ขนาดยา ยานี้ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปใช้ยาขนาดเดียวกัน
     พยาธิเข็มหมุดรับประทานครั้งละ 100 มก. ครั้งเดียว ควรซ้ำอีกครั้งใน 2 สัปดาห์
     พยาธิปากขอ, พยาธิแส้ม้า, พยาธิไส้เดือนกลม รับประทาน 500 มก. ครั้งเดียว หรือ 100 มก. เช้า-เย็น 3 วัน (ให้ซ้ำอีกรอบ หากยังพบไข่พยาธิในอุจจาระใน 3-4 สัปดาห์)

Praziquantel (Biltricide@)
     มีฤทธิ์ต่อกลุ่มพยาธิตัวตืดและพยาธิใบไม้ พยาธิที่ไวต่อยาจะเป็นอัมพาตแบบหดเกร็งเมื่อโดนยาที่มีความเข้มข้นต่ำ ส่วนที่ความเข้มข้นสูง ยาทำลายผิวพยาธิซึ่งจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำลายพยาธิ ในระดับเซลล์พบว่ายาทำให้การผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ของอิออนต่างๆ ผิดปกติไป
     ประโยชน์ในการรักษาและขนาดที่ใช้ ขนาดรับประทานครั้งเดียว 10-20 มก./กก. กำจัดพยาธิตัวตืดได้หลายชนิด เช่น พยาธิตืดหมู ตืดวัว ตืดปลา ตืดสุนัข แต่พยาธิตืดแคระ ต้องใช้ยาขนาดสูงขึ้น (25 มก./กก.) พยาธิใบไม้ต่างๆ (ยกเว้นพยาธิใบไม้ในปอด) ใช้ Praziquantel ขนาด 20-25 มก./กก. วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 1 วัน หรือ 40-50 มก./กก. ครั้งเดียว ส่วนพยาธิใบไม้ในปอดต้องใช้ยาเป็นเวลา 2 วัน
    อาการไม่พึงประสงค์ ปวดท้อง คลื่นไส้ ปวดศรีษะ วิงเวียน กรณีที่รับประทานยาแบบครั้งเดียว ควรรับประทานยาหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน เพื่อลดอาการข้างเคียง นอกจากนี้ยังพบอาการไข้ ผื่นคัน ลมพิษ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ได้บ้าง

Niclosamide (Yomesan@)
     เป็นยาที่ใช้รักษาพยาธิตัวตืดเกือบทุกชนิด ยานี้จะถูกดูดซึมผ่านทางเดินอาหารน้อยมาก
     อาการไม่พึงประสงค์ เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน และปั่นป่วนในช่องท้อง ส่วนอาการปวดท้อง ผื่นคัน ลมพิษและวิงเวียน อาจพบได้บ้าง จากการที่มีการปลดปล่อย antigen ออกจากพยาธิ
     ข้อห้ามใช้และข้อควรระวัง ควรงดดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่รับประทานยาและหลังจากนั้นอีก 1 วัน ยาไม่มีผลต่อไข่ของพยาธิ ดังนั้นในกรณีของพยาธิตืดหมู จึงเลือกรักษาด้วยยา Praziquantel เพื่อป้องกันการเกิด Cysticercosis แต่ถ้าใช้ Niclosamide ต้องใช้ยาระบาย ตามภายใน 1-2 ชม. เพื่อให้การขับพยาธิออกจากร่างกายเร็วขึ้น ก่อนที่ไข่จะถูกปล่อยออกจากพยาธิที่ตายแล้วสู่ทางเดินอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และสตรีมีครรภ์
     ประโยชน์ที่ใช้ในการรักษา ใช้รักษาพยาธิตัวตืดแทบทุกชนิด โดยใช้ยาขนาดเดียว คือ 2 กรัม ต้องเคี้ยวก่อนกลืน และดื่มน้ำตามเล็กน้อย
************************************************************************************************
เอกสารอ้างอิง
1. ศราวุฒิ อู่พุฒินันท์ และอภินันท์ สิริรัตนาธร. เภสัชวิทยาเล่ม 2. “ เคมีบำบัด ” ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. หน้า 49-54.
2. สมใจ นครชัย. เภสัชวิทยาเล่ม 2. “ ยากำจัดพยาธิ ” ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 290-297.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Popular Posts

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

 
Copyright © 2011 toncub | High CTR Blogspot Themes designed by Ali Munandar | Powered by Blogger.Com.
My Zimbio