ความหมายของยาคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิด หมายถึงยาที่กินเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ โดยใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสโตเจนที่ได้จากการสังเคราะห์มีฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนโปรเจสโตโรนตามธรรมชาติ
ยาคุมกำเนิดแบบธรรมดาแบ่งได้ 2 ชนิด ดังนี้
1. ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined oral contraception)
ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม หมายถึง ยาคุมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสโตเจนเท่ากัน แบ่งได้สองกลุ่ม
1.1 Monophasic or Fixed dose pill เป็นกลุ่มยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนรวม คือเอสโตรเจน และโปรเจสโตเจนเท่ากัน แยกได้ 3 ประเภท
1.1.1 ระดับปริมาณฮอร์โมนรวมสูง (High dose)ใช้กับคนไข้ที่รักษาอาการทางนรีเวชเท่านั้น
1.1.2 ระดับปริมาณฮอร์โมนรวมต่ำ (Low dose) มีเอสโตรเจนน้อยกว่า 50 ไมโครกรัม และ
ปริมาณโปรเจสโตเจนก็น้อยกว่าแบบแรก คือมีเอสโตรเจนเพียง 30 หรือ 35 ไมโครกรัมเท่านั้น ยาคุมกลุ่มนี้ใช้กันมากที่สุด
1.1.3 ระดับปริมาณฮอร์โมนรวมต่ำมาก (Ultralow dose) มีเอสโตรเจน 20 ไมโครกรัม ข้อดี
จะมีอาการข้างเคียงจากเอสโตรเจนน้อย แต่ข้อเสียอาจทำให้มีเลือดออกกระปริบกระปรอย รอบเดือนขาดหายไป อีกทั้งยังต้องกินสม่ำเสมอ ห้ามขาดเพราะระดับยาจะลดลงจนไม่สามารถยับยั้นการตกไข่ได้
1.2 Multiphasic pills เป็นกลุ่มยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสโตเจนไม่เท่ากันในเม็ดยาคุมกำเนิดในแผงยา เรียกว่า triphasic หรือ three steps pills ทำให้ยาคุมประเภทนี้ต้องกินเรียงตามลำดับ
2. ยาคุมกำเนิดที่มีแต่โปรเจสโตเจน
ยาคุมกำเนิดในกลุ่มนี้จะไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน และมีแต่โปรเจสโตเจนในระดับปริมาณน้อย เรียกว่า microdose หนึ่งแผงจะมี 35 เม็ด ข้อดีจะไม่มีผลของอาการข้างเคียงของเอสโตรเจน หรือต่อคนที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด ข้อเสียมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดต่ำ เพราะการระงับไข่ตกไม่แน่นอน
การคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน
หมายถึง วิธีการคุมกำเนิดที่ใช้ภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ทันที ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดเท่านั้น เช่น ไม่ได้คุมกำเนิด ถุงยางแตกหรือรั่ว หรือถูกข่มขืน เป็นต้น ยาคุมฉุกเฉิน เป็นยาที่มีโปรเจสโตเจนในปริมาณสูงปริมาณ 0.75 มิลลิกรัม ซึ่งยาคุมประเภทนี้ไม่สามารถนำไปใช้เป็นยาคุมกำเนิดแบบปกติตามที่ได้กล่าวมาแล้ว จะใช้ในกรณีที่ผิดพลาดเท่านั้น เพราะหากมีเพศสัมพันธ์อยู่เป็นประจำ และใช้ยาคุมฉุกเฉินบ่อยๆ จะทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์มากขึ้นหากเทียบกับวิธีคุมกำเนิดแบบธรรมดา ยาคุมฉุกเฉินแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
1. ยาคุมฉุกเฉินฮอร์โมนผสม ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสตินผสมกัน (Combined Pill Regimens)
2. ยาคุมฉุกเฉินฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งมีฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว (Progestin-Only Pill Regimens)
วิธีการกินยาคุมกำเนิด
การเลือกกินยาคุมกำเนิดมีดังนี้
1. การเลือกกินยาคุมกำเนิดตามภาวะของฮอร์โมนในร่างกาย เนื่องจากระดับฮอร์โมนร่างกายของผู้หญิงแต่ละคนนั้นมีระดับที่แตกต่างกัน สามารถแบ่งออกได้สามประเภท
1.1. ประเภท estrogenic (ควรเลือกกินยาคุมที่มี progestogen มาก)
- มีรอบเดือนออกมาก และออกนานกว่า 6 วัน
- ระยะรอบเดือนสั้น มักจะน้อยกว่า26วันต่อครั้ง(มาเร็ว)
- รูปร่างท้วมหรืออ้วน
- ไม่ค่อยมีขนตามตัว
1.2 ประเภทปกติ
- มีรอบเดือนสม่ำเสมอ ปริมาณเลือดไม่มากไม่น้อย 4-6 วัน
- น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
1.3 ประเภท progestonic (ควรเลือกยาคุมที่มี estrogen มาก)
- รอบเดือนมีเลือดน้อยไม่ค่อยเปลืองผ้าอนามัย มาน้อยกว่า 4 วัน
- ระยะรอบเดือนยาว บางคนกว่า30วันจึงจะมา(เลื่อนออกไปบ่อยๆ)
- รูปร่างออกไปทางผู้ชาย
- เต้าเล็ก
- มีขนตามตัว
- เป็นสิวบ่อยๆ
2. ผู้หญิงที่มีลูกแล้ว แบ่งออกได้ 2 กรณี
2.1 หากมีอาการแพ้ท้องมากในขณะที่มีลูก เช่นคลื่นไส้ อาเจียน หรือบวม แสดงว่าร่างกาย
ตอบสนองต่อเอสโตรเจนมาก ควรเลือกกินยาคุมที่มีเอสโตรเจนน้อย
2.2 เมื่อมีท้องแล้วอ้วนมาก และมีสิวมาก แสดงว่าร่างกายตอบสนองต่อโปรเจสโตเจน และ
แอนโดรเจนมาก ควรเลือกกินยาคุมที่มีโปรเจสโตเจนน้อย
3. ผู้หญิงที่มีอายุน้อย หรือค่อนข้างมาก เช่น อายุต่ำกว่า 16 ปี ไม่แนะนำให้กินยาคุมเพราะอาจทำให้ตัวเตี้ยได้ หรืออายุมากกว่า 40 ปี ก็ไม่แนะนำให้กินยาคุมกำเนิด เพราะจะมีผลต่อโรคหัวใจ และระบบหลอด ควรเลือกฉีดยาคุมกำเนิด แต่หากต้องการกินยาคุมให้เลือกยาคุมที่ไม่มีเอสโตรเจนหรือมีเอสโตรเจนน้อย
4. แม่ลูกอ่อน หากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรเลือกแบบไม่มีเอสโตรเจน หรือถ้ามีเอสโตรเจนก็ไม่ควรเกิน 20 ไมโครกรัม เพราะเอสโตรเจนที่มีปริมาณสูงอาจมีผลให้ปริมาณน้ำนมลดลง และอาจทำให้เด็กตาเหลืองจากการกินนมแม่ การกินยาคุมสามารถเริ่มได้หลังคลอด 6 สัปดาห์ แต่เมื่อหยุดให้นมสามารถกินแบบปกติได้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น