ขับเคลื่อนโดย Blogger.

ข้อสอบสาธารณสุขฉํบเหตุการณ์ 2554

 "ข้อสอบสาธารณสุข อีกส่วนหนึ่งนาจะเป็นเหตุการณ์เด่นๆในช่วง ปี 2554 ใครที่คิดที่ทำข้อสอบสาธารณสุขในส่วนนี้ให้ได้แล้วไม่มีเวลาอ่านสรุปทั้งหมด ก็ให้อ่านแนวข้อสอบสาธารณสุขฉับเหตุการณ์เด่น 2554กันนะครับ"

1. แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น+นิวซีแลนด์+ตุรกี และภัยธรรมชาติทั่วโลก

วันที่ 11 มีนาคม เกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง 8.9 ริคเตอร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ห่างจากเมืองชายฝั่งเซนได บนเกาะฮอนชู 130 กิโลเมตร ก่อคลื่นยักษ์สึนามิสูง 7 เมตร กวาดซัดเมืองชายฝั่งด้วยความเร็ว 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 20,000 ราย  แผ่นดินไหวยังทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ระเบิด ส่งผลให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมา  ถือเป็นเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดตั้งแต่การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์ โนบิลในยูเครนเมื่อปี 2529

นอกจากนี้  ยังเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองไครส์เชิร์ชของนิวซีแลนด์ ระดับ 6.3 ริคเตอร์เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์  ทำให้มีผู้เสียชีวิต 200 ราย  และวันที่ 23 ตุลาคม เกิดแผ่นดินไหว 7.2 ริคเตอร์ในเมืองเออร์ซิส จังหวัดวาน ทางตะวันออกของตุรกี คร่าชีวิตผู้คนกว่า 600 ราย  ไม่เพียงแค่นั้นพายุทอร์นาโดไม่ต่ำกว่า 230 ลูกในช่วง 3 วันพัดกระหน่ำสหรัฐครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 37 ปี สร้างความสูญเสียใน 8 รัฐทางใต้  ทำให้ชาวอเมริกันเสียชีวิตมากกว่า 300 ราย  และยังมีน้ำท่วมในอิตาลีกับจีน  รวมทั้งเกาหลีเหนือ  เวียดนาม ตลอดจนฟิลิปปินส์

2. ปฏิวัติดอกมะลิ  (ตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย เยเมน ซีเรีย และสังหารกัดดาฟี)
การปฏิวัติดอกมะลิหรืออาหรับ สปริงในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเริ่มต้นขึ้นที่ตูนิเซีย จากนั้นลุกลามไปยังอียิปต์  ลิเบีย เยเมน จอร์แดน บาห์เรน โมร็อกโก และซีเรีย  ทำให้ประชาชนต้องสังเวยชีวิตเป็นจำนวนมาก เพื่อแลกกับการโค่นล้มผู้นำที่ผูกขาดอำนาจหลายสิบปี อย่างอดีตประธานาธิบดีซีน เอล อาบิดีน เบน อาลี แห่งตูนิเซีย ที่ครองอำนาจมานานกว่า 23 ปี  อดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค แห่งอียิปต์ ที่ปกครองประเทศกว่า 30 ปี  รวมทั้งประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์  ซาเลห์  แห่งเยเมน ที่ครองอำนาจ 32 ปี  และประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำซีเรีย แม้ยังอยู่ในอำนาจ แต่ต้องเผชิญการประท้วงอย่างรุนแรงทั่วประเทศมาตั้งแต่เดือนมีนาคม  ส่งผลให้ผู้คนล้มตายไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย จากรายงานของสหประชาชาติ  ขณะที่  พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี  อดีตผู้นำลิเบีย ไม่เพียงแต่ตัวเองต้องหลุดจากอำนาจ  แต่ต้องจบเส้นทางการเมืองไม่สวยหรู ถูกฝ่ายต่อต้านฆ่าตาย และนาโตถล่มอย่างหนัก  ปิดฉากผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจ 42 ปี 
3. พิธีเสกสมรสวิลเลียม-เคท และจิกมีอภิเษกสมรส

เจ้าชายวิลเลียม รัชทายาทลำดับที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ ทรงเข้าพิธีเสกสมรสกับพระคู่หมั้น นางสาวเคท มิดเดิลตัน ที่มหาวิหารเวสต์มินเตอร์ ในกรุงลอนดอนเมื่อวันที่  29 เมษายน  โดยมีการถ่ายทอดสดราชพิธีดังกล่าวไปทั่วโลก และเป็นพิธีเสกสมรสครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปีของอังกฤษ ซึ่งมีผู้ชมทั่วโลกราว 2,000 ล้านคน ส่งผลให้เจ้าชายวิลเลียมและเคท มิดเดิลตัน  ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นดยุคและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์   จากนั้นวันที่ 13 ตุลาคม โลกได้ชื่นชมพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างกษัตริย์จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏานกับนางสาวเจตซุน เปมา หญิงสาวสามัญชน ที่ได้ขึ้นเป็นราชินีองค์ใหม่แห่งราชอาณาจักรภูฏาน
4. บินลาเดนถูกสังหาร

โอซามา บินลาเดน  ผู้นำเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์ ซึ่งว่ากันว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีในสหรัฐเมื่อวันที่  11 กันยายนปี 2544 และเป็นนักก่อการร้ายที่โลกต้องการตัวมากที่สุด  ได้ถูกหน่วยซีลทีมซิกซ์ของกองทัพเรือสหรัฐ ปฏิบัติการสายฟ้าแลบใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นพาหนะบุกสังหารตายคาที่พักในเมือง อับบอตตาบัดใกล้กรุงอิสลามาบัดของปากีสถานเมื่อวันที่  2 พฤษภาคม ภายหลังสหรัฐตามล่าตัวบินลาเดนมานานถึง 10 ปี จากนั้นไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ศพของเขาถูกนำไปฝังในทะเล ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับปากีสถานตึงเครียด  เนื่องจากอเมริกาไม่ได้แจ้งล่วงหน้าถึงปฏิบัติการดังกล่าว เท่ากับเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของปากีสถาน
5. จับสเตราส์-คาห์นคดีข่มขืนแม่บ้าน

โดมินิก สเตราส์-คาห์น อดีตผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ชาวฝรั่งเศสวัย 62 ปี ถูกตำรวจในนครนิวยอร์กของสหรัฐจับกุมข้อหาข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศต่อนา ฟิสซาโต ดิอัลโล  ชาวกินีวัย 32 ปี แม่บ้านโรงแรมโซฟิเทลในเขตแมนฮัตตัน  สุดท้ายผู้พิพากษาศาลนิวยอร์กตัดสินยกฟ้องคดีล่วงละเมิดทางเพศทุกข้อกล่าวหา โดยให้เหตุผลว่า หลักฐานที่รวบรวมมาได้ระหว่างการสอบสวน ทำให้ความน่าเชื่อถือของแม่บ้านลดลง จนถึงขั้นอัยการไม่สามารถเชื่อคำให้การของโจทก์ได้  คำตัดสินดังกล่าวถือเป็นการสิ้นสุดคดีอื้อฉาวที่มีการพูดถึงอย่างแพร่หลาย เป็นเวลาหลายเดือน ขณะที่สเตราส์-คาห์น ได้รับอิสรภาพ และเดินทางกลับฝรั่งเศส
6. อีโคไลระบาดในยุโรป

เชื้อแบคทีเรียอีโคไลระบาดในยุโรปและลุกลามไปกว่า 10 ประเทศแถบตะวันตก เช่น ออสเตรีย อังกฤษ สาธารณรัฐเช็ก  ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์  นอร์เวย์  สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา โดยไม่ทราบต้นตอมาจากแหล่งใด จนเกิดการกล่าวโทษกันเอง  ซึ่งทางการเยอรมนีระบุว่า แตงกวาที่นำเข้าจากเมืองอัลเมเรียและมาลากาของสเปน อาจเป็นต้นตอของแบคทีเรีย เอนเทอโร แฮมมอร์ราจิค อีโคไล (อีเอชอีซี)  ทำให้หลายประเทศงดนำเข้าผักจากยุโรป แม้กระทั่งรัสเซียห้ามนำเข้าผักสด เช่น แตงกวา  มะเขือเทศ และผักสลัด  นอกจากนี้  ยังมีการคาดเดาว่า ต้นตอของเชื้อแบคทีเรียอีโคไลอาจมาจากถั่วงอก และเมล็ดลูกซัค  เครื่องเทศที่ยุโรปนำเข้าจากอียิปต์  การระบาดของอีไคไลครั้งนี้  คร่าชีวิตชาวยุโรป โดยเฉพาะชาวเยอรมันหลายสิบศพ และล้มป่วยนับพัน
7. วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป+เอสแอนด์พีลดเครดิตสหรัฐ

วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปเริ่มต้นจากกรีซ ที่ต้องเข้าโครงการกอบกู้เศรษฐกิจจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทำให้รัฐบาลเอเธนส์ต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด ลดรายจ่ายและสวัสดิการต่าง ๆ ส่งผลให้ประชาชนไม่พอใจออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านจนเกิดจลาจลหลายครั้ง  จากนั้นวิกฤติหนี้สินได้ลุกลามไปยังไอร์แลนด์และโปรตุเกส  รวมถึงกำลังคุกคามอิตาลีด้วย ซึ่งทำให้ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี  ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะวิกฤติการเงินเขตยูโร  ขณะที่ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 100 ปี นับตั้งแต่ปี 2460  การเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐสภาสหรัฐได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับการตัด งบประมาณและเพดานการกู้ยืมของประเทศ แต่ก็ไม่อาจสร้างความพอใจให้แก่เอสแอนด์พี จึงมีการหั่นเครดิตจาก AAA เป็น AA+
8. มะเร็งคร่าชีวิตสตีฟ จ็อบส์
วงการไอทีโลกเผชิญการสูญเสียครั้งใหญ่ เมื่อสตีฟ จ็อบส์ นักประดิษฐ์อัจฉริยะชาวอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ล อิงค์ เจ้าของผลงานไอพอด ไอโฟน และไอแพดได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 56 ปี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งตับอ่อนมานานถึง 7 ปี การเสียชีวิตของจ็อบส์มีขึ้นเพียงวันเดียว ภายหลังแอปเปิลเปิดตัวไอโฟน 4 เอสและผลงานสิ่งประดิษฐ์ชิ้นสุดท้ายของเขาคือการเปิดตัวไอแพด คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตพกพาเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว ทำให้แอปเปิลแซงไมโครซอฟท์ คู่แข่งสำคัญขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่สูงสุดของสหรัฐได้สำเร็จ
9. การสังหารหมู่ในนอร์เวย์

แอนเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก วัย 32 ปี ก่อเหตุสะเทือนขวัญในนอร์เวย์เมื่อวันที่  22 กรกฎาคม ด้วยการขว้างระเบิดและกราดยิงผู้คนที่อาคารหน่วยงานของรัฐบาลในกรุงออสโลและ โจมตีค่ายยุวชนพรรคแรงงานบนเกาะยูโทย่า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 77 ศพ  บาดเจ็บ 151 คน อย่างไรก็ตาม เบรวิก อาจไม่ถูกตัดสินจำคุก  หลังนักจิตวิทยาที่ทำการตรวจสอบอาการทางจิตของเขาระบุว่า เบรวิกมีความบกพร่องทางจิต เนื่องจากการสัมภาษณ์ถึง 13 ครั้ง ชี้ให้เห็นว่า เบรวิก เป็นโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง และมีอาการวิกลจริตในขณะก่อเหตุ รายงานดังกล่าวจะต้องได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการนิติเวชศาสตร์ต่อไป หากได้รับความเห็นชอบ  เบรวิกอาจไม่ถูกจำคุก แต่ต้องเข้ารับการบำบัดทางจิตแทน
10. จลาจลลอนดอน

เหตุเริ่มจากตำรวจยิงมาร์ค ดักแกน ชายผิวดำวัย 29 ปี ผู้ต้องหาค้าโคเคน เสียชีวิตในย่านทอตแนม ทางเหนือของกรุงลอนดอนในอังกฤษ ทำให้ญาติและชาวเมืองท้องถิ่นไม่พอใจออกมาเดินขบวน จนนำไปสู่การจลาจลในเมืองหลวง ก่อนลุกลามไปยังเมืองใหญ่ เช่น ลิเวอร์พูล และเบอร์มิงแฮม ตลอดจนอีกหลายเมืองทั่วประเทศ จนเกิดการปะทะกับตำรวจปราบจลาจล มีผู้เสียชีวิต 5 ศพ ร้านค้าหลายร้อยแห่งถูกปล้นสะดมและบางแห่งยังถูกวางเพลิงเผาจนวอด ประชาชนถูกจับกุมกว่า 1,000 ราย ตำรวจบาดเจ็บอย่างน้อย 186 นาย.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Popular Posts

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

 
Copyright © 2011 toncub | High CTR Blogspot Themes designed by Ali Munandar | Powered by Blogger.Com.
My Zimbio