1.
ความหมายของระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Care)
ในที่นี้ขอสรุปความหมายของ Primary Care ว่าเป็นความหมายที่รวมทั้ง Primary Medical และ Primary
Health Care ดังนั้น Primary
Care จึงหมายถึง การให้บริการสาธารณสุขด่านแรกที่เน้นการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน
จนเป็นสื่อในการนำความรู้และนำบริการสุขภาพที่มีคุณภาพไปสู่ประชาชน
Primary Care จึงมีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างน้อย
3 ประการ คือ
(1)
ความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน (Community
relationship) เป็นการบ่งบอกว่า การดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิไม่ใช่การดูแลเฉพาะโรคแต่ต้องดูแลบุคคล
ครอบครัว และชุมชน มีความรู้จักและเข้าใจกันระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ
ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เกิดการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ
(2)
สร้างความรู้ให้กับประชาชน (Empowerment) การบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิมุ่งหวังให้ประชาชนพึ่งตนเอง
และสามารถดูแลตนเองไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค
(3)
บริการที่มีคุณภาพ (Quality of
Care) บริการที่มีคุณภาพมี 2 มิติ คือ ด้านวิชาการทางการแพทย์ คือ
รักษาถูกโรค ถูกคน ถูกเวลา ทำให้ผู้ป่วยหายป่วยจากโรค อีกมิติ คือ มิติทางสังคม ซึ่งหมายถึงองค์ประกอบหลัก 3 ประการ คือ
1)
Continuity ความต่อเนื่องของการให้บริการ ทั้งขณะป่วยและขณะปกติ ดูแลตลอดชีวิตประชาชน
2)
Integrated
ผสมผสานเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว หมายถึง การบริการที่มีการผสมผสานทั้งการส่งเสริมสุขภาพ
การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และ การฟื้นฟูสภาพ
3)
Holistic
องค์รวม คือ ดูแลคนทั้งคน ไม่ใช่เฉพาะโรค มีการนำมิติทางกาย – จิต – สังคม – สิ่งแวดล้อมมาเชื่อมโยงการดูแล
จากความหมาย
และองค์ประกอบของ Primary
Care ดังกล่าวข้างต้น ศาสตร์ที่น่าจะนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยหรือประชาชนในระบบริการปฐมภูมิ
คือ ศาสตร์ของเวชศาสตร์ครอบครัว
2.
หลักการของเวชศาสตร์ครอบครัว (Family
Medicine)
สำนักตรวจราชการเขต 3 ได้ให้หลักการของเวชศาสตร์ครอบครัวไว้สั้นๆว่า
“รู้จักและเข้าใจกัน สร้างสรรค์สุขภาพชุมชน เพิ่มผลคุณภาพการรักษา” นั้นหมายความว่า ผู้ให้บริการตามหลักการของเวชศาสตร์ครอบครัวจะต้องรู้จักและเข้าใจประชาชนในเขตรับผิดชอบ
รู้จักครอบครัว รู้จักชุมชนเป็นอย่างดี
ไม่ใช่มารู้จักเฉพาะในห้องตรวจโรค การให้บริการในลักษณะนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ของผู้ให้กับผู้รับบริการเสมือนญาติมิตร
ย่อมทำให้เกิดความอบอุ่นทางด้านจิตใจของประชาชนเป็นอย่างมาก
สร้างสรรค์สุขภาพชุมชน เป็นนัยบอกว่า การดูแลสุขภาพของคนและครอบครัวนั้น
ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน
การป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพจะทำได้ดีจะต้องมองภาพทั้งชุมชนด้วย
เพิ่มผลคุณภาพการรักษา
เมื่อทำองค์ประกอบ 2 อย่างแรกได้ดี ย่อมส่งผลให้การรักษาของผู้ป่วยได้รับผลดี คือ
หายป่วยหรือไม่มีภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งไม่เกิดการป่วยซ้ำซ้อน
การเข้าใจหลักการของเวชศาสตร์ครอบครัว
ย่อมส่งผลต่อรูปแบบของการให้บริการเปรียบเสมือนคำพูดที่ว่า
ทฤษฎีชี้นำการปฏิบัติ
ผู้ที่อยู่ในวงการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ได้เสนอหลักการเพื่อให้ผู้ให้บริการยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ
10 ข้อ (10 Core
Principle) ดังนี้
(1)
การให้บริการเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นพันธะผูกพันระหว่างผู้ให้บริการกับบุคคลมากกว่ากับโรคหรือเทคโนโลยี
(Person
–centeredness)
(2)
ต้องมีความเข้าใจบริบทของความเจ็บป่วย
(3)
การให้บริการทุกครั้งถือเป็นโอกาสของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้ป่วย
(4)
ต้องคำนึงถึงประชาชนรอบข้างผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเสมอ
(5)
มองประชาชนเป็นเครือข่ายในการดูแลสุขภาพของตนเองจะได้เข้าใจบริบทของชุมชน
(6)
ผู้ให้บริการควรอยู่ในชุมชนที่รับผิดชอบ
(7)
ดูแลผู้ป่วยทั้งในสถานบริการ และนอกสถานบริการ ได้แก่ ที่บ้าน และในชุมชน
(8)
คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนต่อความเจ็บป่วย
(9)
เป็นผู้จัดการทรัพยากรสาธารณสุขและนักประสานงาน
(10)
บุคลากรเวชศาสตร์ครอบครัวต้องใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต
หลักการ 10
ข้อนี้ไม่แตกต่างจากหลักการที่ทางสำนักตรวจราชการสาธารณสุขเขต 3 กำหนดไว้ เพียงแต่แตกประเด็นให้เป็นข้อย่อยมากขึ้น
ขอบเขตของการให้บริการแบบเวชศาสตร์ครอบครัวจะต้องครอบคลุมทั้งเชิงรับและเชิงรุก
ซึ่งจะเกิดขึ้นได้
ผู้ให้บริการจะต้องคำนึงถึงรูปแบบการให้บริการที่ประกอบด้วย
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (Acute)
การเข้าใจภูมิหลังของผู้รับบริการ
(Psychosocial) การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (Promotion
& Prevention) และความต่อเนื่อง (Continuity)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น