ขับเคลื่อนโดย Blogger.

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ยอดคนแห่งยุค

"ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นบุคคลที่ผมชื่นชอบมากๆครับ ท่านเป็นนักยุทธศาสตร์มือหนึ่งของประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาชั้นเยี่ยม เรียกได้ว่าเป็น key of  Success ของความสำเร็จของหลายๆคนเลยทีเดียวครับ บทความที่นำมาเสนอผมได้จาก ข่าวสด เป็นบทความที่ผมชื่นชอบมาากๆครับ"
สมคิด เดินสายขอร้องเศรษฐี 12 ตระกูล ระดมเสียงสร้างอนาคตประเทศ

ความขม ของการเป็นคนหมายเลขสอง รสขื่นปานใด อาจไม่มีใครรู้รสเท่ากับ "ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์"

เขาเคยบอกบางช่วงของชีวิต ขมเท่าไรก็ต้องกลืน บอกเล่าใครไม่ได้ นอกจากต้องสลายความขม ด้วยการเป็นกุนซือ ให้คนเป็นเบอร์หนึ่ง อย่างมืออาชีพ

เพราะเป็นกุนซือมาตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเข้าสู่วงการธุรกิจ การเมือง ตำแหน่งของเขาส่วนใหญ่จึงเป็น "ที่ปรึกษา"

เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่วงการเมืองครั้งแรก ที่กระทรวงการต่างประเทศ 90 วัน เขามีที่ปรึกษาชื่อ "ดร.สมคิด"

เมื่อแยกทางกับ "พ.ต.ท.ทักษิณ" หลังรัฐประหาร 2549 "ดร.สมคิด" กลับไปใช้ชีวิตเป็นกุนซือให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง

ที่มีตำแหน่งแห่งหนชัดเจน คือการนั่งเก้าอี้ ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

กลุ่ม 12 พ่อค้าตระกูลดัง เจ้าของสินทรัพย์หมายเลขต้นๆ ของเมืองไทย ล้วนใกล้ชิด ใช้บริการเขาในฐานะ "ที่ปรึกษา"
เมื่อเขาคิดตั้ง สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) เพื่อเป็น "ที่ปรึกษา" ทางวิชาการโดยใช้ข้อมูลที่ผ่านการสังเคราะห์อย่างเป็นระบบ

เขาจึงระดมทายาทเศรษฐีจาก 12 ตระกูล เข้าร่วมเป็นกรรมการที่ปรึกษา ทั้งลูกชายตระกูลเจียรวนนท์, ทายาทบ้านโชควัฒนา, โอสถานุเคราะห์, เจเนอเรชั่นที่สามแห่งตระกูลโสภณพนิช, ทายาทสิริวัฒนภักดี, จิราธิวัฒน์, ราชาทูน่าโลกตระกูลจันศิริ

เจ้าพ่อเมืองหนังตระกูลพูลวรลักษณ์, ทายาทล่ำซำสายธุรกิจประกันชีวิต, เครือข่ายธุรกิจการบินของตระกูลอินทรภูวศักดิ์ และทายาทว่องกุศลกิจ เจ้าของน้ำตาลไทยยี่ห้อมิตรผล

นอกจากนี้ ยังมีคอนเน็กชั่นส่วนตัว ของ ดร.สมคิด กับนักวิชาการระดับกูรู จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, เจ้าของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเครือข่ายเพื่อนธรรมศาสตร์ ลูกศิษย์ระดับเป็นผู้อำนาวยสถาบันศศินทร์, มหาวิทยาลัยมหิดล และเอ็นจีโอตัวพ่ออย่าง ศ.นพ.ประเวศ วะสี เข้าร่วมวงด้วย



ดร.สมคิด สารภาพต่อหน้านักธุรกิจหลายร้อยคน ในวันเปิดตัวสถาบันว่า "ในวัยนี้ จะว่าชราก็ไม่ชรา จะว่าหนุ่มก็ไม่หนุ่ม ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจทำ ในชีวิตไม่เคยขอร้องใคร แต่วันนี้เดินสายพบผู้นำ นักธุรกิจ เพื่อจะบอกว่า ถึงเวลาแล้ว หากท่านไม่ริเริ่มประเทศจะชะงัก...ประเทศเราไม่ค่อยปกตินัก"

คีย์เวิร์ดในการปลุกระดมนักธุรกิจ ของ "ดร.สมคิด" ยังอยู่ที่เรื่อง "ความคิดเปลี่ยนแปลงโลก" และการเปรียบเทียบประเทศที่ก้าวหน้าและตกอับ เพราะขาดความคิด

"อะไรก็ไม่ยิ่งใหญ่เท่าความคิด สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ หากโลกไม่มีความคิดใหม่ นับวันมีแต่จะยิ่งถดถอย ด้อยพัฒนา ประเทศชาติบ้านเมืองเช่นกัน ประเทศใดยามที่รุ่งเรือง บ้านเมืองสมานฉันท์ อุดมด้วยปัญญา ประเทศนั้นก็มีแต่เจริญรุ่งเรืองอย่างไร้ขีดจำกัด ดูตัวอย่างความสำเร็จของจีน ดูการพุ่งทะยานของเกาหลีใต้ ดูการปรับฐานเศรษฐกิจของบราซิล ดูการก้าวเข้าสู่ Global City ของสิงคโปร์ ทั้งหมดล้วนเริ่มมาจากความคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง และปรับปรุงประเทศให้ดีขึ้น"

"แต่ในประเทศที่บ้านเมืองแตกร้าว ความคิดไม่มี ปัญญาไม่ปรากฏ หมกหมุ่น งมงาย ลุ่มหลงอยู่กับผลพวงแห่งความสำเร็จในอดีต วุ่นวายอยู่กับปัญหาและผลประโยชน์เฉพาะหน้า ประเทศเหล่านั้นหยุดนิ่งและถดถอย ให้ดูตัวอย่างฟิลิปปินส์ ดูความตกต่ำของยุโรป ดูความวุ่นวายในตะวันออกกลางที่อุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมัน แต่ทุกวันนี้หาความสงบไม่ได้เลย ให้ดูความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา แล้วดูการตกดับของญี่ปุ่น"

ข้อสรุปคือ การหยุดนิ่งและถดถอย มีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกัน คือ เกิดความบกพร่องเชิงความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ


เมื่อวกเข้าประเทศไทย ดร.สมคิด ฝากความหวังไว้ในมือของนักธุรกิจ เขาบอกว่าเสียดายที่การเมืองในประเทศไม่นิ่ง ความพยายามในการขับเคลื่อนจึงเบาบางลงไป น่าเสียดายที่ภาคประชาชนอ่อนแอเกินไป จึงไม่สามารถขับเคลื่อนไปสู่สภาพที่เข้มแข็งได้ ความหวังจริงๆ ของประเทศจึงอยู่ที่ ภาคเอกชน ที่พร้อมทั้งปัญญาและทรัพยากร

"ประเทศไทยนั้นถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ในหลายสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยก้าวมาไกลมาก เป็นประเทศแนวหน้าในเอเชีย แต่ที่จริงแล้ว ผลพวงแห่งความสำเร็จก็ยังมีจุดอ่อน จุดด้อยที่เราต้องพัฒนา สมรรถนะของประเทศไทย ยังมีอีกหลายจุดที่ต้องเติมเต็มให้เหมาะสม สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนของโลกในอนาคตข้างหน้า ฉะนั้น ไม่ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม โดยไม่มีความคิด ไม่มียุทธศาสตร์ ทั้งๆ ที่พายุกำลังจะมา โลกกำลังเปลี่ยน"

ในนามของประธานกรรมการสถาบัน ที่นักธุรกิจรวมตัวกันลงขัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยความรู้และประสบการณ์ ดร.สมคิด เชื่อมั่นว่า "นักธุรกิจรุ่นใหม่ ผู้นำภาคเอกชนที่มีความสามารถ จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศ ต่อประชาชน และสำคัญไม่แพ้กับภาครัฐ"

"ประเด็นคือรัฐจะทำอย่างไรให้ตนเองให้มีสมรรถนะสูงสุด มีการกำกับที่มีธรรมาภิบาล ดูแลชี้นำภาคเอกชนไปสู่สิ่งที่ดี ซึ่งภาครัฐไม่ได้หมายเฉพาะรัฐบาล แต่หมายรวมนักการเมือง ส.ส. ส.ว.ทุกท่านที่เกี่ยวข้อง จะต้องเอาสติปัญหา เอาใจใส่กับสิ่งที่เป็นอนาคตของประเทศ มากกว่าปัญหาความวุ่นวายเฉพาะหน้า มากกว่าประโยชน์เฉพาะตน"

"เรากำลังพูดถึงประเทศไทยที่มีประชากร 60 กว่าล้านคน เราเลือกนักการเมืองเพื่อสร้างประเทศ สร้างคนไทย สร้างอนาคต ไม่ใช่อย่างอื่น ฉะนั้น จิตสำนึกและภาระนี้สำคัญอย่างยิ่ง"


วาระของนักธุรกิจ ที่นำเสนอทิศทางการลงทุนพัฒนาประเทศ ทั้งเรื่องเทคโนโลยีดิจิตอล การแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมและการเพิ่มมูลค่า จะลงทุนการแข่งขันอย่างไรให้ชัดเจน รวดเร็ว มียุทธศาสตร์ เพราะทุกนาทีที่รัฐมีท่าทีขยักขย่อนนั้น ความเสียหายเกิดขึ้นกับประเทศมหาศาล

ที่ลืมไม่ได้คือ นักรบธุรกิจของประเทศ คือ กลุ่ม SME ภาครัฐจะทำอย่างไรจะวางทิศทางให้เดินไปข้างหน้าได้ ช่วยแนะนำ สร้างให้เข้มแข็ง ไม่ใช่บั่นทอน นักธุรกิจจึงอยากจะเห็นภาพของยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน โดยเฉพาะในประชาคมเศรษฐกิจ AEC และ global economy ในวันข้างหน้า

"จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็น HUB-เป็นจุดศูนย์รวมของ AEC ให้ประเทศไทยก้าวไปใช้ประโยชน์ที่เปิดกว้างของ AEC โดยที่ทุกฝ่ายนั้นได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเท่าเทียมของผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย เกิดการบูรณาการที่ครบวงจร"

ดร.สมคิด ชี้เป้า ให้นักธุรกิจเห็นความสำคัญของการรวมตัวกันใช้ปากเสียงของตัวเอง ส่งสัญญาณดังๆ ชัดๆ ถึงหูผู้กำหนดนโยบายชาติ

"ถ้านักธุรกิจเอกชนรวมตัวกันแล้ว พลังการขับเคลื่อนจะแรงมาก เสียงของท่านจะดัง สิ่งที่เรียกร้องจะได้รับการตอบสนอง ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะอยู่ได้ ถ้าภาคเอกชนมีพลังการขับเคลื่อนที่แข็งแรง แต่ถ้าภาคเอกชนต่างคนต่างอยู่ก็จะเป็นผู้ถูกกระทำต่อไป บอกได้คำเดียวว่าภาคเอกชน คือกำลังที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยในวันนี้"



เขาใช้ศัพท์ม็อบ-เอ็นจีโอ อธิบายกับนักธุรกิจว่า หากภาคเอกชนทำงานที่อาศัยเครือข่าย ทั้งนักวิชาการ นักคิด คนคิดดี คิดชอบ ช่วยกันสร้างบ้านเมือง ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีว่า ทุกคนสามารถทำสิ่งที่ดีให้สังคมได้ ไม่จำเป็นต้องแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย

จากประวัติศาสตร์การรวมตัวกันหลวมๆของนักธุรกิจ มักเป็นเรื่องผลประโยชน์ชั่วครั้ง ชั่วคราว แต่คราวนี้ เมื่อมีคนถาม ดร.สมคิดว่า สถาบันอนาคตไทยศึกษา จะมีอนาคตหรือไม่ ดร.สมคิดตอบต่อหน้าพ่อค้าทั้งเมืองไทย ว่า

"ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีอนาคตแน่นอน แต่ต้องร่วมกันคิด รวมแนวคิดเก่า ผสมกับแนวคิดใหม่ เป็น New wave of thought for New Future of Thai แล้วเมืองไทยจะมีอนาคต


รายงานพิเศษ มติชนสุดสัปดาห์ 10-16 สิงหาคม 2555




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Popular Posts

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

 
Copyright © 2011 toncub | High CTR Blogspot Themes designed by Ali Munandar | Powered by Blogger.Com.
My Zimbio